โปรแกรมตรวจหาความเสี่ยงโรคหัวใจขาดเลือด
โดยการเดินสายพาน Exercise Stress Test (EST)
|
โปรแกรมตรวจหาความเสี่ยงโรคหัวใจขาดเลือด
โดยการเดินสายพาน Exercise Stress Test (EST)
จะมีสักกี่คนที่รู้ว่าตัวเองว่าป่วยเป็นโรคอะไร หรือร่างกายมีผิดปกติตรงไหนบ้าง ซึ่งหากเราละเลยหรือปล่อยทิ้งไว้ อาจก่อให้เกิดอันตรายได้โดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะ “ภาวะหัวใจขาดเลือด” ที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตเป็นอันดับต้นๆ ของคนไทย แล้วจะดีมั้ย หากเรามีเทคโนโลยีที่ใช้ในการตรวจวินิจฉัยโรคหัวใจขาดเลือด โดยการตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกายด้วยการเดินสายพาน (Exercise Stress Test : EST)ที่จะทำให้เรารู้ถึงภาวะหัวใจขาดเลือด ได้แต่เนิ่นๆ ก่อนที่เรื่องร้ายๆ จะมาหาคุณ
การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกายด้วยการเดินสายพาน
(Exercise Stress Test : EST) คืออะไร?
การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกายด้วยการเดินสายพานว่า เป็นการตรวจสมรรถภาพของหัวใจโดยให้ผู้ป่วยออกกำลังกายด้วยวิธีเดินบนสายพานเลื่อน เพื่อทดสอบว่า ในขณะที่ออกกำลังกายแล้ว จะเกิดภาวะการขาดเลือดขึ้นหรือไม่ เนื่องจากหากผู้ป่วยมีภาวะของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจตีบตันอยู่ ก็จะทำให้มีเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้ไม่เพียงพอ เมื่อต้องออกกำลังกาย และจะมีผลทำให้คลื่นไฟฟ้าหัวใจเปลี่ยนแปลงไป โดยจะทำการต่อขั้วและสายนำไฟฟ้าบริเวณหน้าอก 10 สาย เข้ากับเครื่องคอมพิวเตอร์ ในขณะที่เดินอยู่ เครื่องก็จะบันทึกและแสดงลักษณะของคลื่นนำไฟฟ้าภายในหัวใจ พร้อมทั้งความดันโลหิตตลอดเวลา ในขณะทดสอบจะมีการเพิ่มความเร็ว และความชันของเครื่องเป็นระยะๆ ตามโปรแกรม โดยจะเลือกให้เหมาะสมกับสภาพของผู้ทดสอบในแต่ละราย ซึ่งการตรวจสมรรถภาพหัวใจแบบนี้ก็จะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยว่าเรามีภาวะของเส้นเลือดหัวใจตีบ ตัน หรือไม่อีกทั้งยังใช้ในการติดตามผู้ป่วยภายหลังได้รับการรักษาได้อีกด้วย
ใครบ้างที่ควรตรวจภาวะหัวใจขาดเลือด
1. ผู้ที่มีอายุ 40 ปี ขึ้นไป ทั้งชายและหญิง
2. ผู้ที่มีประวัติป่วยเป็นโรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคความดันสูง และไขมันในเลือดสูง
3. ผู้ที่สูบบุหรี่
4. ผู้ที่มีคนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคหัวใจ
5. ผู้ ป่วยที่เคยได้รับการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการรักษาด้วยยา การทำบอลลูนขยายหลอดเลือดหัวใจ หรือการผ่าตัดต่อหลอดเลือดหัวใจ เพื่อติดตามผลการรักษาของผู้ป่วย
การเตรียมตัวก่อนการตรวจสมรรถภาพหัวใจ
ขณะออกกำลังกายด้วยการเดินสายพาน
1. พักผ่อนให้เพียงพอในวันก่อนตรวจ
2. งดสูบบุหรี่ งดรับประทานอาหารมื้อหนัก ห้ามดื่มชา กาแฟ ก่อนการทดสอบอย่างน้อย 2 – 3 ชั่วโมง
3. งดยาบางชนิดก่อนการตรวจตามคำแนะนำของแพทย์
4.
เลือกเสื้อผ้าที่สวมใส่สบาย ไม่อึกอัดเกินไป และสวมรองเท้าที่ใส่ให้เหมาะแก่การออกกำลังกาย
การตรวจสมรรถภาพหัวใจด้วยการวิ่งสายพาน ดีอย่างไร?
1. เพื่อทดสอบความสมบูรณ์ของร่างกายและหัวใจ
2. เพื่อวินิจฉัยแยกโรคว่า อาการเจ็บหน้าอกเกิดจากโรคหัวใจ หรือสาเหตุอื่น
3. เพื่อบ่งบอกความรุนแรงของโรคหลอดเลือดหัวใจ และความปลอดภัย เมื่อจะออกจากโรงพยาบาล ตลอดจนการให้คำแนะนำในเรื่องการออกกำลังกายของผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้
4. เพื่อติดตามผลการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจ ทั้งก่อนทำการรักษา และหลังจากการรักษาว่าได้ผลหรือไม่ หรือมีการเกิดหลอดเลือดหัวใจตีบ ตันขึ้นมาใหม่
5. เพื่อการวินิจฉัยโรคหลอดเลือดหัวใจในผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงแต่ไม่มีอาการของโรค
6.
ช่วยประเมินสภาวะของหัวใจเต้นผิดปกติ
ดังนั้น การหาภาวะหัวใจขาดเลือดโดยการวิ่งสายพาน จึงเป็นการตรวจที่มีประโยชน์อย่างมาก เพราะมีความแม่นยำในการวินิจฉัยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้ดีกว่าการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบธรรมดา เนื่องจากในภาวะปกติที่ร่างกายไม่มีการใช้กำลังมาก คลื่นไฟฟ้าหัวใจของผู้ป่วยที่ มีการตีบตันอยู่ ก็จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากปกติ จึงทำให้มีผลการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบธรรมดาเป็นปกติได้ ซึ่งอาจจะทำให้ผลออกมาบิดเบือนจากความเป็นจริงที่หลอดเลือดหัวใจตีบ ตันอยู่ ก็เป็นได้
ศูนย์อายุรกรรม โรงพยาบาลลานนา ติดต่อสอบถามได้ที่ โทร. 052-134-777
ข้อมูลอัพเดท ณ วันที่ 2 พฤษภาคม 2562
|